เรื่อง : ขาว-ดำ

                ในระยะเวลาราว 14 ปี บริษัทสถาปนิกที่เริ่มต้นจากขนาดเล็กก็เติบโตขึ้นเป็นกลุ่มบริษัท นอกเหนือจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมอาคาร โรงแรม ที่พักอาศัย สำนักงาน ฯลฯ แล้ว JARKEN Group of Companies ยังแตกไลน์ออกมาเป็น pye Design Co., Ltd. บริษัทออกแบบสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม เพื่อรองรับ Segment ระดับกลางและบน ภายใต้แนวคิด ‘Practical, Youthful & Exquisite’, TigerLily Communication Co., Ltd. บริษัทรับงานพีอาร์และแบรนดิ้ง, DI Concept Store ร้านดีไซน์คอนเส็ปต์สโตร์แห่งแรก ที่เสนอสินค้าวัสดุตกแต่งภายในระดับพรีเมียมจากทั่วทุกมุมโลก, JK Builders บริษัทรับเหมางานวิศวกรรม งานก่อสร้างจากข้างนอกและของบริษัทตัวเอง

                ‘แจน’ ศศิวิมล สินธวณรงค์ อดีตดีไซเนอร์จากบริษัท อินทีเรียร์ อาร์คิเทคส์ 49 เล่าว่า หลังจากใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร เธอจึงตัดสินใจเปิดบริษัท JARKEN ของตนเองขึ้นในปี 2546       

                ตลอดเวลาของการทำงานที่ผ่านมา เธอสามารถบอกเล่าได้ถึงความเปลี่ยนแปลง “ที่เห็นได้ชัดเลยคือ ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปเยอะ จากเดิมที่เขายังไม่รู้ถึงความต้องการของตัวเองว่าอยากได้อะไร อยากทำบ้านลักษณะไหน ตอนนี้เหมือนกับว่าข้อมูลข่าวสารที่เขาดูไม่ได้มีแค่เพียงในนิตยสารเท่านั้น แต่เขาสามารถดูจากโซเซียลมีเดียได้ด้วย และมีเยอะขึ้น เขาจะเห็นงานจากทั่วโลกพร้อมๆ กับดีไซเนอร์ ทำให้เขามองเห็นความต้องการของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น

                “ลูกค้าเก่งขึ้น มีความรู้มากขึ้น สามารถเลือกวัสดุและสไตล์ที่ตัวเองชอบ และสามารถบอกความต้องการของตัวเองได้เยอะขึ้น เมื่อก่อนเขาอาจจะไว้ใจให้เราทำในสิ่งที่เขาถูกใจ แต่ตอนนี้เขาอาจจะรู้ก่อนแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกใจเขา เขาจะแจ้งเราได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งก็ดีนะคะ”

                 แต่นั่นอาจหมายถึงข้อจำกัดที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน เธอว่า “จากการที่โลกเราเป็นแบบนี้ อะไรก็ตามที่มาเยอะๆ แล้วให้คนเห็นความเป็นไปได้ คนก็จะตามกันไป ดูสิ่งนั้น คิดสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้น เฉพาะนั้นแบบที่เราเห็น มันก็จะถูกทำซ้ำมากขึ้น คนที่เห็นงานเยอะ คนที่คิดแตกต่างจริงๆ ก็จะหาได้น้อยลง

ระหว่างรับมอบรางวัล Silver Award สาขา Public Space เวที Singapore Interior Design Award (SIDA) จากผลงานการออกแบบตกแต่งภายในอาคารสิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์

                “ในแง่ของคนทำงาน เทคโนโลยีก็มีส่วน ทำให้คิดงานได้เร็วขึ้น และแสดงผลงานได้ชัดเจนขึ้น เมื่อ 10 ปีที่แล้วจะดีไซน์อะไรเราก็ต้องเขียนด้วยมือ เขียนภาพ perspective ก็ต้องใช้สีน้ำ กว่าจะทำกันเสร็จก็ใช้เวลาหลายวัน ลูกค้าจะแก้แบบทีก็โห…ต้องมานั่งวาดใหม่ แต่เดี๋ยวนี้ด้วยคอมพิวเตอร์ ด้วยสเก็ตช์-อัพ ลูกค้าสรุปแบบได้เร็วขึ้น แก้ได้ปุ๊บปั๊บ 3-4 ปีหลังมานี้เราทำงานด้วยไลน์ยิ่งเร็วขึ้นอีก โต้ตอบกันทางไลน์ได้เลย มันเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ลักษณะการทำงานเปลี่ยนไป”

ปัจจุบันลูกค้าค้นพบความต้องการของตัวเองได้มากขึ้น การออกแบบชัดเจนขึ้น เขาก็เลยต้องการอะไรที่แปลกใหม่ ชัดเจน และตอบโจทย์ของเขาจริงๆ อะไรที่เหมือนของคนอื่น และไม่แตกต่างมักจะไม่ได้รับความสนใจ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เราใส่คาแรกเตอร์ของเขาเข้าไปในงาน และสร้างสรรค์อะไรที่แปลกใหม่และที่เป็นเฉพาะตัวบุคคลได้ ลูกค้าก็จะพอใจ และงานก็จะได้รับความนิยม

งานตกแต่งภายนอกอาคาร SLC ทองหล่อ

               ดีไซเนอร์-ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายสถาปัตยกรรมภายในกลุ่มบริษัท JARKEN-บอกเล่าถึงแนวโน้มการออกแบบตกแต่งในยุคสมัยปัจจุบัน “เรื่องของวัสดุก็เช่นกัน อย่างเวลาออกแบบผนังหัวเตียง ไม่ว่าหินหรือกระเบื้อง แทนที่จะนำวัสดุมาติดผนังแบบเรียบง่าย เราต้องหาดีเทลมาเสริมให้งานมีเอกลักษณ์มากขึ้น หรือพิเศษมากขึ้น เช่นการเรียงตัวของหินหรือกระเบื้อง หรือว่าการนำศิลปะเข้าไปผสมผสานกับผ้า หรือกับผนัง แทนที่จะปล่อยให้เรียบๆ เป็นเรื่องของการครีเอตอะไรใหม่ๆ”

                เทรนด์ของการออกแบบตกแต่งอาจแตกต่างจากสายงานดีไซน์อื่น ที่จะเห็นอะไรไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่พอจะกล่าวถึงภาพรวมคร่าวๆ ได้

งานตกแต่งภายในสำนักงาน CP Ingredients สีลม

งานตกแต่งภายในสำนักงาน CP Ingredients สีลม

                “อย่างเช่น ช่วงปี-สองปีนี้กราฟิกกำลังกลับเข้ามา จากที่เคยนิยมกันเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วในรูปแบบ Minimal Modern ไปที่ไหนเราก็จะเห็นผนังเรียบๆ ขาวๆ เป็นแท่งๆ แข็งๆ ถัดมาก็จะเป็น 5-6 ปีที่แล้วเป็นเรื่องของ Italian Modern มีดีเทลของเฟอร์นิเจอร์ที่มีสีสันเข้ามาผสมผสานมากขึ้น นั่งสบายขึ้น ไม่แข็งๆ เหมือนเดิม ตอนนี้ถ้าดูภาพรวมของเฟอร์นิเจอร์จากสแกนดิเนเวีย หรืออิตาลี จะเห็นรูปแบบของคลาสสิก เช่น ขาต่อ โทนสีที่ออกเรโทรนิดๆ เขียวแบบใบไม้อ่อน เริ่มกลับเข้ามา แจนรู้สึกว่าความคลาสสิกแบบเรโทรเริ่มกลับเข้ามา เราจะเห็นเอเลเมนต์ที่เป็นจีโอเมตทรีที่ตันๆ อย่างติดกระจก กระจกสีทอง กลมๆ เล็กๆ ตัวโต๊ะกลางที่เป็นสแตนเลสสีทองเหมือนกัน รูปทรงเป็นก้อนๆ สามเหลี่ยมบ้าง เป็นเอเลเมนต์ชัดๆ แบบนั้น และมีความเป็นป๊อปอาร์ตนิดๆ มากขึ้นด้วย แต่มันไม่ได้กลับมาแบบเดิม แต่จะมีมาแค่กลิ่นอาย แล้วมาผสมผสานกับสิ่งใหม่ๆ”

                เราตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงหลังๆ ดีไซเนอร์แบรนด์แฟชั่นในต่างประเทศพากันมาทำไลน์เฟอร์นิเจอร์มากขึ้น และเมื่อตั้งเป็นคำถามกับเธอ ก็ได้รับคำตอบ “แจนมองว่ามันเป็น Design Ecology อย่างของเราเอง จาร์เคนเราเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทสถาปนิกออกแบบ แต่พอทำไปแล้วเราก็อยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างในโปรเจ็กต์มันเหมือนเนื้อเดียวกัน เรื่องเดียวกัน

This slideshow requires JavaScript.

                “เหมือนที่เราเคยออกแบบแบรนด์หนึ่งให้ลูกค้าที่ทำโปรดักต์เกี่ยวกับป่า เราก็ทำตั้งแต่แรกเริ่มเลยคือออกแบบโลโก้ ออกแบบโปรดักต์ เราออกแบบแม้กระทั่งเสื้อช็อปสำหรับให้พนักงานขายไว้ใส่ ออกแบบร้านว่าเดินเข้าไปแล้วบรรยากาศของร้านกับแบรนด์ควรจะลิงค์กันอย่างไร ไปจนถึงด้านหน้าตึกที่เขาทำเป็นร้านอาหาร เพื่อให้คนที่เข้าไปรู้สึกถึงไลฟ์สไตล์ที่เกิดขึ้นว่า ถ้าเข้าไปที่แบรนด์นี้คุณจะจับต้องสินค้าแบบนี้ ห้องน้ำของแบรนด์นี้ควรจะเป็นแบบนี้ อาหารที่คุณรับประทานเข้าไปจะได้ความรู้สึกของแบรนด์นี้”

                งานดีไซน์เป็นอะไรที่มากกว่าการออกแบบที่ถูกต้องและสวยงาม แจนอธิบายถึงงานดีไซน์ที่ส่งผลถึงชีวิตประจำวัน “จริงๆ งานดีไซน์มันซึมแทรกอยู่ในทุกอณูที่เราใช้ชีวิตอยู่ มันยิ่งกว่าการทำให้ชีวิตดีขึ้นมากๆ อย่างเช่นเรานอนบนเตียง เตียงแบบไหนที่จะถูกใจเรา ต้องสูงเพื่อให้เรานั่งพิงได้พอดีไหม หรือว่าความสูงของเตียงจะแค่ไหนเพื่อไม่ให้เรารู้สึกเจ็บเข่าเจ็บขาเวลาลุกหรือนั่ง เหล่านี้เป็นเรื่องของดีไซน์ที่เข้าไปสอดแทรกทุกอย่าง เก้าอี้ที่เรานั่ง ประตูที่เราใช้ ตัวล็อก มือจับ แก้วที่เราใช้ดื่มน้ำ โทรศัพท์ที่เราใช้ ดีไซน์ทำให้เกิดสิ่งที่มีอยู่ทุกวันนี้ ที่เรามองเห็น ดีไซน์คือฟังก์ชั่น การตอบโจทย์การใช้งานผสมกับความสวยงาม”

งานออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์ pye palette

                นอกเหนือจากงานด้านการออกแบบและตกแต่งสถาปัตยกรรมแล้ว เมื่อ 2 ปีที่แล้วแจนยังริเริ่มออกแบบเสื้อผ้า ภายใต้แบรนด์ pye palette ซึ่งแยกไลน์ออกมาจากบริษัท pye 

                “ตอนนี้เรามีออกมาแล้ว 2 คอลเล็กชั่น เริ่มแรกคือคอลเล็กชั่น Flow เป็นเสื้อผ้าสไตล์ผู้หญิง สไตล์คล่องแคล่ว ทะมัดทะแมง ดูเป็นสถาปนิก เหมือนจะพรีเซนต์ตัวตนเต็มที่” แจนเล่าพลางหัวเราะ “ส่วนคอลเล็กชั่นที่ 2 ทีแรกตั้งใจจะทำเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น ชื่อคอลเล็กชั่น Feel เป็นเสื้อผ้าผู้สูงอายุ แต่กลับกลายเป็นว่าคนที่เป็นวัยรุ่นก็อยากใส่”

                  pye palette เป็นแนวเสื้อผ้าเรียบๆ ไม่มีลายดอกไม้หรือลายการ์ตูน สไตล์คล้ายกับงานออกแบบของ pye ที่ออกแนวโก้ เท่มากกว่า

                 แจนยอมรับว่างานออกแบบเสื้อผ้าเป็นงานที่สนุก แม้ว่าสิ่งนี้ไม่ถือว่าเป็นไลน์ที่เธอถนัด “แต่พอไปทำแล้ว มันทำให้เราเข้าใจว่า ไอเดียในการทำธุรกิจสามารถเบลนด์ได้หมด”

                 เสื้อผ้าแบรนด์ pye palette มีช็อปที่พารากอน สยามเซ็นเตอร์ ลักษณะเป็นป๊อปอัพ สโตร์ รวมถึงที่ร้าน Statement ทองหล่อ 11 และทางออนไลน์ (pyepalette.com)

งานออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์ pye palette

“สไตล์การแต่งตัวของแจนเป็นแบบเรียบ โก้ คลาสสิก คล้ายๆ กับสไตล์การออกแบบงานอินทีเรียร์ละค่ะ แจนชอบอะไรที่แปลกๆ ไม่เหมือนใคร แต่ไม่ถึงกับเว่อร์วัง แจนชอบอะไรที่มันอยู่ได้นานๆ เสื้อผ้าของแจนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ใส่แล้วยังมีคนชมอยู่”

               ไลฟ์สไตล์ของแจน เจ้าตัวยอมรับว่าเป็นแนวคุณแม่ ที่ทำงาน เข้าออฟฟิศทุกจันทร์ถึงศุกร์ บางวันก็เข้าไซต์งาน “จริงๆ การเข้าไซต์งานบางคนอาจคิดว่าไม่สนุก ต้องไปตากแดดร้อนๆ” เธอว่า “แต่สำหรับแจนแล้ว การเข้าไปเห็นผลงานจริงมันเป็นอะไรที่สร้างกำลังใจ และสนุก การได้ออกไปเปิดหูเปิดตา ดูตึกหรือโรงแรมใหม่ๆ ก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ได้ หรือไปเที่ยวโรงหินโรงไม้ก็เป็นสิ่งที่สามารถผนวกกับงานได้อย่างสนุก ที่เหลือก็ประชุมกับพนักงาน ซึ่งเราประชุมกันบ่อยค่ะ กลับบ้านก็ไปดูลูกๆ ตามปกติ

งานออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์ pye palette

                แจนมีลูกชาย 3 คน (วัย 10-7-5 ขวบ) ซึ่งเธอต้องให้เวลากับลูกๆ เยอะหน่อย “เสาร์-อาทิตย์ก็เลยไม่ค่อยได้ไปไหน ส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมหรือเล่นกับลูกๆ หรือไปต่างจังหวัดด้วยกัน พาไปฟาร์มหรืออะไรที่ลูกชอบ อยากให้เขาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ บ่อยๆ ไม่ใช่อยู่บ้านอย่างเดียว โดยเฉพาะเด็กผู้ชายด้วย เขาน่าจะได้ออกไปข้างนอกมากกว่าอยู่กับบ้าน แต่คิดว่าถ้าเขาโตขึ้น แจนก็คงจะสบายกว่านี้”

                เธอเล่าเพิ่มเติมว่า ลูกๆ ของเธอทุกคนชอบวาดรูป โดยเฉพาะคนโตใฝ่ฝันอยากเป็นสถาปนิกด้วย “แม่ฟังแล้วตกใจ เป็นอย่างอื่นก็ได้นะคะ” คนเป็นแม่เล่าปนเสียงหัวเราะ “แต่แจนว่า เขาน่าจะชอบอะไรที่ออกแนว Construction หน่อยๆ แบบสะพาน ถนน ทางด่วนมากกว่า

                “ความจริงแล้ว ทั้งแจนและสามี (ดร.กุลเดช สินธวณรงค์) สนับสนุนลูกทุกด้านนะคะ ลูกอยากเป็นอะไรก็ได้ ไม่ได้ห้ามอะไร เขายังเด็กอยู่ ยังเปลี่ยนตัวเองได้อีกเยอะ

                “แต่ถ้าเขาชอบอะไรก็แล้วแต่ เราพร้อมจะสนับสนุนค่ะ”

Facebook Comments Box