พัฒน์พงศ์ นับเป็นย่านที่จัดจ้านและน่าค้นหามากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของธุรกิจ ที่การจราจรมักคับคั่งทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งโลกีย์ รวมทั้งแหล่งช้อปปิ้งสินค้าก๊อปปี้สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

                วันนี้พัฒน์พงศ์กำลังถูกภัยโควิด-19 คุกคาม ภาพชีวิตยามราตรีที่เคยพลุกพล่าน คับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวจางหายไป ผับบาร์ที่เคยส่งเสียงและสาดสีสันพากันปิดเงียบตามมาตรการล็อกดาวน์ แทบกลายสภาพเป็นถนนร้างในยามค่ำคืน

                อาคารหลังเก่าที่ก่อนเคยเป็นบาร์ในซอยพัฒน์พงศ์ 2 ได้รับการดัดแปลงให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์’ มีพื้นที่ 300 ตารางเมตร จัดแสดงเอกสารและสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุคสมัยสงครามเย็น ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตรัสเซียและจีนเป็นแกนนำ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับย่านพัฒน์พงศ์ จากอดีตตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเป็นศูนย์กลางพาณิชย์ จนกระทั่งถึงยุคเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นโลกียสถาน

This slideshow requires JavaScript.

                ‘พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์’ ก่อตั้งโดยไมเคิล เมสเนอร์ (Michael Messer) ชาวออสเตรียน ที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่พ่อเป็นศิลปิน และเคยดูแลพิพิธภัณฑ์ที่บ้านเกิด ก่อนที่โชคชะตาจะพาเขามาที่ประเทศไทย พบรัก และแต่งงานสาวไทย กระทั่งตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ และเริ่มประกอบธุรกิจร้านอาหารในย่านพัฒน์พงศ์

                ตลอดเวลาที่คลุกคลีอยู่กับย่านนี้ เขาได้สัมผัสประสบการณ์จากลูกค้าขาประจำที่ล้วนมีเรื่องเล่าไม่ธรรมดา และมีจำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นทหารผ่านศึกจากช่วงสงครามเวียดนาม บ้างเคยเป็นสายสืบให้กับซีไอเอ บ้างก็เป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในละแวก เขาจึงเริ่มมีไอเดียในการสะสมร่องรอยประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 ปี รวมถึงเกร็ดประวัติ ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับถนนพัฒน์พงศ์ ย่านบันเทิงยามราตรีเก่าแก่และมีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งมีความผูกพันในเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างชาวไทยและอเมริกัน

                ภายในพิพิธภัณฑ์จัดสรรพื้นที่จัดแสดงเป็นโซนต่างๆ บอกเล่าตั้งแต่ประวัติความเป็นมาของพื้นที่และเจ้าของพื้นที่ – หลวงพัฒน์พงศ์พานิช (ตุ้น แซ่ผู่) ชาวจีนไหหลำที่อพยพเข้ามาเมืองไทย สู้ชีวิตด้วยการตรากตรำทำงานหนัก จนได้รับสัมปทานทำเหมืองดินขาวส่งให้ปูนซิเมนต์ไทย

                ไล่เรียงมาจนถึงรุ่นลูก-อุดม พัฒน์พงศ์พานิช ผู้ริเริ่มพัฒนาที่ดินของครอบครัว ตัดถนนผ่ากลางที่ดินของตนเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ และตั้งชื่อว่า ‘ซอยพัฒน์พงศ์’ ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มของการเข้ามาของธุรกิจจากต่างชาติ ไม่ว่าบริษัท IBM บริษัทน้ำมัน หรือสายการบินจากทั่วโลก ที่เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในย่านนี้ ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนพ้องที่เป็นเจ้าหน้าที่ของซีไอเอ

                สำนักงานของซีไอเอแฝงตัวอยู่ในอาคารพาณิชย์ใจกลางย่าน ในยุครัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซง เพื่อช่วงชิงพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ให้ตกไปอยู่ในอุ้งมือของฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎี ‘โดมิโน’ ที่พวกเขาเชื่อว่า ถ้าหมากตัวหนึ่งล้มมันจะกระทบต่อเนื่องกันเป็นโดมิโน

This slideshow requires JavaScript.

                ก่อนจะมาถึงยุคบันเทิงยามราตรี อันเป็นจุดเปลี่ยนของย่านพัฒน์พงศ์ในช่วงกลางทศวรรษ ’70 และต้นยุค ’80 เมื่อบริษัทต่างชาติเริ่มย้ายออกจากพื้นที่ เช่นตอนที่ IBM ย้ายไปก็มีไนต์คลับ Superstar Disco ผุดขึ้นมาแทน และมีบาร์อะโกโก้แห่งแรกในเมืองไทยเกิดขึ้นที่นี่

ในอีกโซนหนึ่งมีห้องจำลองบาร์ในอดีต ที่สามารถสั่งเครื่องดื่มและนั่งดื่มได้ ถัดไปมีการจัดแสดงชุดภาพถ่ายของพนักงานบริการ Sex Toy วิดีโอปิงปองโชว์ และโชว์พิสดารอื่นๆ ในตำนาน (มีเครื่องยิงปิงปองอัตโนมัติให้ผู้เข้าชมได้ฝึกการรับลูกปิงปองด้วย!)

                นอกเหนือจากสิ่งของ ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวที่หาดูได้ยากแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีกิจกรรมให้เล่นสนุกๆ อย่างเช่น Wall of Fame ที่ให้ผู้เข้าชมใช้แท็บเล็ตส่องภาพเงาบนผนัง เพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติมของคนดังในอดีตที่เคยแวะเวียนเข้ามาในย่านพัฒน์พงศ์ ชมคลิปวิดีโอหายาก เมื่อครั้งที่เดวิด โบวีมาถ่ายทำเอ็มวีที่ย่านนี้ และยอมให้พ่อหมอชื่อดังเป่าน้ำมนต์ หรือหนังสารคดี-ในห้องฉายหนัง-เล่าเรื่อง ‘สงครามลับ’ เป็นภารกิจของซีไอเอเข้าไปแทรกแซงในลาว

                ในช่วงทศวรรษ ’90 พัฒน์พงศ์เปลี่ยนโฉมจากย่านบันเทิงยามราตรีมาเป็น ‘ไนท์มาร์เก็ต’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อย่านพัฒน์พงศ์ หลายคนมองว่านี่เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้พัฒน์พงศ์มีสภาพแวดล้อมที่หลากหลายขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น การเข้ามาของไนท์มาร์เก็ตก็ทำให้บรรยากาศเดิมๆ ของย่านนี้เปลี่ยนไป บาร์ที่เคยอยู่มานานเริ่มทยอยปิดตัวลง หรือย้ายออกจากพื้นที่ มีบาร์อะโกโก้ผุดขึ้นมาแทนที่ อย่างที่เคยเห็นกันล่าสุดก่อนการมาเยือนของโควิด-19

                 ในวันพรุ่งนี้พัฒน์พงศ์อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอีกครั้ง เพราะคงอีกนานกว่านักท่องเที่ยวซึ่งเป็นลูกค้าหลักของย่านจะหวนกลับมาเยือน ที่นี่อาจจะกลายเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมใหม่ก็ได้

                  อย่างไรก็ตาม พัฒน์พงศ์ยังคงเป็นถนนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน น่าค้นหา และเนืองแน่นไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลายจากทุกมุมโลก และยังคงเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ในอนาคตข้างหน้า…อีกครั้ง

พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์

ตั้งอยู่ในพัฒน์พงศ์ ซอย 2 ฝั่งตรงข้ามฟู้ดแลนด์

อัตราค่าเข้าชม 350 บาท/คน (ไม่รวมเครื่องดื่มอื่นๆ ที่บาร์ของพิพิธภัณฑ์)

โปรโมชั่น ซื้อบัตรเข้าชม 1 ใบ แถม 1 ใบ พร้อมรับเครื่องดื่มชาหรือกาแฟ ฟรี

พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-20.00 น.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.facebook.com/patpongmuseum

พิกัด: Patpong Museum

Facebook Comments Box