เรื่อง : หมอมา

                 วัยรุ่นยุคดิจิตอลมักวุ่นอยู่กับโซเชียลมีเดียถึงค่อนวัน ติดเกมข้ามวันข้ามคืน พัวพันอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือตลอด อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและสภาวะอารมณ์ แพทย์ออกโรงเตือน ขืนปล่อยให้ลูกๆ ติดพฤติกรรมอย่างที่ว่ามา จะพังทั้งสายตาและสภาพจิตใจ

ติดจอ ส่อตาพัง

                หากลูกของคุณนั่งเฝ้าอยู่หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ขยับ อาการแบบนี้อาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพทางการมองเห็นได้ เช่น ภาวะสายตาสั้น หรือ ภาวะจอตาเสื่อมที่มักเกิดกับผู้สูงอายุ ภาวะดังกล่าวอาจมาเยือนลูกคุณก่อนวัยอันควร ตามด้วยอาการ CVS (Computer Vision Syndrome) คือโรคที่มาจากการใช้คอมพิวเตอร์อย่างหนัก จดจ่อกับหน้าจอมากเกินไป ไม่ได้พักสายตา อาการแบบนี้สามารถรักษาได้โดยการปรับพฤติกรรม

                พ่อแม่ทุกคนควรหันมาใส่ใจให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพดวงตาของเด็ก เนื่องจากดวงตาเปรียบเสมือนหน้าต่างของสมอง เพราะในเด็กเล็กนั้นพัฒนาการและทักษะต่างๆ ยังไม่พัฒนาเต็มที่

                ดังนั้น เด็กจะรับรู้เรื่องราวผ่านการมองเห็นมากที่สุด โดยเฉพาะ 4 ปีแรก เด็กจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว ซึ่งหากเด็กมีปัญหาการมองเห็นไม่สมบูรณ์หรือการรับภาพไม่ชัดเจน ก็อาจส่งผลต่อการประมวลผลข้อมูลที่ส่งไปยังสมองและการกระทบต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก

เก็บตาใสๆ ไว้ท่องโลกกว้าง

                ยังมีผู้คนที่ต้องพบปะไปยันแก่เฒ่า ยังมีความรู้ในหนังสือที่น่าอ่านอีกเป็นล้านเล่ม ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่รูปถ่ายเก็บอารมณ์ไว้ได้ไม่หมด แทบทุกสิ่งใช้ตาชื่นชมเป็นด่านแรก ฉะนั้นสอนเขาและตัวคุณเองด้วยแรงบันดาลใจเชิงภาพที่จะช่วยเขารักษาตาคู่น้อยไว้ให้นาน

               วางจอให้พอดี จากข้อมูลของ American Optometric Association เผยว่า ควรวางจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาประมาณ 15 ถึง 20 องศา และสายตาอยู่ห่างจากจอสักหนึ่งช่วงแขน

               ปรับแสงระหว่างใช้งาน ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือในที่ที่มีแสงไฟเพียงพอ กรณีปิดไฟในห้อง ให้ลดระดับความจ้าของอุปกรณ์ลง

               เลือกเกมฝึกทักษะ พ่อแม่ควรทำความรู้จักกับเกมสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิต และผลักดันให้ลูกเลือกเล่นประเภทวางแผนคุมทีมกีฬา เกมสร้างบ้านสร้างเมือง เกมคำศัพท์ หรือการคำนวณ เป็นอันดับแรกๆ

               เล่นเป็นเวลา ต้องรู้จักตั้งกฎเล่นเกม เวลาไหนให้ลูกเล่นได้ และเวลาไหนไม่ควรให้เล่น นอกจากนั้นยังรู้จักให้รางวัลลูกจากความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ บางอย่าง แล้วจึงปล่อยให้เล่นเกมได้

               ส่วนในเรื่องของการนำไปสู่ภาวะอารมณ์แปรปรวนในเด็กและวัยรุ่น ความจริงแล้วมีหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กติดเกม พ่อแม่หลายคนอาจมองข้ามประเด็นเหล่านี้ เช่น หนึ่ง-เด็กมีภาวะซึมเศร้า จึงหาทางออกด้วยการอยู่กับตัวเอง สอง-เด็กอยากได้รับการยอมรับจากเพื่อน เพราะพวกเขาต้องเข้าสังคม เมื่อเพื่อนคุยเรื่องเกม เด็กต้องคุยกับเพื่อนรู้เรื่อง และสาม-เด็กสมาธิสั้น ไม่สามารถใช้เวลาจดจ่อ กับอะไรได้นานๆ จึงหันมาเล่นเกม

หัวร้อน ก้าวร้าว เอาแต่ใจ

               อารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่ปกติ ประการแรก-ลูกมีอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว อาละวาด แสดงออกทางอารมณ์ไม่เหมาะสมกับพ่อแม่ เมื่อคุณกำลังตักเตือนว่าใช้เวลาในการเล่นมากเกินไปแล้ว ถัดมา- ลูกเรียกร้อง ขอเปลี่ยนมือถือรุ่นล่าหรือเกมสุดฮิตตลอดเวลา พฤติกรรมที่กล่าวไปทั้งหมดเรียกรวมๆ ว่า ‘ภาวะทางจิตเวช’

               คุณพ่อคุณแม่ควรรีบเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านจิตวิทยาเด็ก ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง และอาจทำให้พัฒนาการของเด็กช้าลง แพทย์จะสามารถวางแผนช่วยเหลือในการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมกับตัวเด็ก ครอบครัว และสิ่งแวดล้อม

               เพื่อให้พวกเขาโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพทั้งกายและใจ ขอจงอย่าให้เขามีเพื่อนสนิทเป็นเกมคอมพิวเตอร์ หรือโซเชียล มีเดียก็เป็นพอ

ข้อมูลจาก: พญ.รัติยา พรชัยสุรีย์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคตาเด็ก แพทย์ที่ปรึกษา และ พญ.กมลวิสาข์ เตชะพูลผล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2

Facebook Comments Box