เรื่อง : จ๊ะโอ๋
ภาพ : FYI

                รู้ทั้งรู้ว่าบุหรี่นั้นร้ายกาจแค่ไหน แต่คนจำนวนไม่น้อยก็สูบและเสพติด ขณะที่บางรายกลับยอมถอยห่างและลาจากการเป็นสิงห์อมควันอย่างน่าชื่นชม หนึ่งในนั้นคือ ‘หนุ่ม วงกะลา’ หรือ ณพสิน แสงสุวรรณ อดีตนักร้องนำวงร็อกชื่อดัง ที่มีเพลงฮอตติดชาร์ตของวง อาทิ ‘แม่ครับ’ ‘ขอเป็นตัวเลือก’ ‘บอกสักคำ’ ‘ไม่เห็นฝุ่น’ หรือผลงานเพลงเดี่ยวอย่าง ‘เขาจะรู้บ้างไหม’ ‘ปล่อยมือฉัน’ เป็นต้น วันนี้แม้เขาจะไม่มีงานเพลงใหม่ออกมาเรียกเรตติ้ง ทว่าเขาก็พร้อมเสมอสำหรับรวมแบ่งปันประสบการณ์การเลิกบุหรี่ โครงการ ‘100 ชีวิตตัวอย่าง เลิกสูบ เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ’ วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

                  หนุ่ม-ณพสินพูดเล่าถึงที่มาของการเสพและติด ‘บุหรี่’ ของตัวเอง “เริ่มต้นจากการการไปเล่นบาสกับเพื่อนตอน ม.4 คือผมกับเพื่อนแถวบ้านติดกีฬากันมากตอนเด็กๆ แต่ทั้งกลุ่มที่เล่นบาสสูบบุหรี่กันทุกคนนะครับ แล้วช่วงที่เล่นบาสก็เป็นช่วงที่ผมและเพื่อนๆ ทุกคนเริ่มสูบพร้อมๆ กันด้วย ประมาณ 10 คน คือมันดูขัดแย้งกันดีนะครับ เหมือนพวกเรารวมตัวกันไปเล่นกีฬาแต่ในช่วงระหว่างนั้นพวกเราก็หามุมมืดในการสูบบุหรี่ไปด้วย

                “ผมว่าความจริงแล้วตอนนั้นมันไม่ได้เกิดจากความอยากเท่หรอกครับ แต่มันเกิดจากการที่ผมเป็นวัยรุ่น อยากจะลองหาอะไรใหม่ๆ มากกว่า เพราะพวกเราเล่นบาสด้วย เล่นดนตรีด้วย จากนั้นก็ลองสูบบุหรี่ แล้วเหมือนกับว่าพอคนในกลุ่ม 2 คนเริ่มสูบ คนอื่นๆ ที่เหลืออีก 5–6 คนก็จะสูบตาม สุดท้ายกลายเป็นว่าทุกคนสูบกันหมด และติดบุหรี่กันทั้งกลุ่ม”

                เริ่มจากการสูบบุหรี่กับเพื่อน 1 ตัวต่อวัน ไม่ช้าก็ขยับจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดอดีตนักร้องเจ้าของเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ต้องยอมเจียดเงินซื้อบุหรี่ติดกระเป๋าตัวเอง 

“ช่วงแรกมันเป็นช่วงที่พวกเราไม่สามารถสูบให้ใครเห็นได้ เพราะพวกเรายังเด็กอยู่ไงครับ ก็ต้องแอบสูบ พอจบ ม.6 ผมเริ่มเป็นนักร้อง มันก็เริ่มมีความรู้สึกว่าโตแล้ว ดูแลตัวเองได้ ในวงการเพลงคนส่วนใหญ่ก็จะสูบบุหรี่กัน เล่นดนตรี เล่นคอนเสิร์ตก็เล่นในผับ พวกเราจะมีอิสระในการสูบมาก ช่วงนั้นผมสูบอย่างต่ำวันละซอง ถ้าวันไหนมีดื่มหรือมีปาร์ตี้ด้วยก็ 2 ซอง” 

                แม้จะรู้ว่าผลเสียของการสูบบุหรี่ต่ออาชีพนักร้องมีมาก โดยเฉพาะเรื่องเสียง แต่เขาก็หาได้ลด ละ หรือเลิก 

               “บุหรี่มีผลต่อเสียงอยู่แล้วครับ คือบางทีตื่นมาบางวันไอออกมาเป็นเลือดก็มี ผมรู้ว่านั่นคือสัญญาณอันตราย แต่ก็ทำเป็นลืมๆ มันไป เคยถึงขนาดไอเป็นเลือดแล้วไปตรวจ เหมือนปอดจะมีปัญหา แต่ผมก็ยังสูบต่อ เคยเจ็บคอมากๆ ไอเป็นเลือดแบบนี้บ่อยมาก ร้องเพลงไม่ได้ก็บ่อย จนเคยมีครั้งหนึ่งครับผมไปทัวร์คอนเสิร์ตแล้วเกิดเสียงหาย คือส่วนหนึ่งก็เกิดจากการร้องเพลงเยอะ ทำงานหนัก นอนดึก แล้วก็สูบบุหรี่ด้วย”

               “เคยมีคนเตือนผมหลายครั้งว่าอย่าสูบบุหรี่นะ เสียงมันจะยิ่งเสีย แต่ผมก็ไม่ฟัง คือด้วยความที่สูบบุหรี่มันต่างจากเหล้า ตรงที่เหล้าผมต้องกินเป็นที่ ต้องดื่มเป็นที่ ผมต้องอยู่ในที่ที่ควรดื่ม แต่บุหรี่เนี่ยผมซื้อได้ทุกที่ และสูบได้ทุกที่ ยิ่งสายงานของผมรู้กันอยู่แล้วว่ามันต้องสูบ ผมยิ่งมีอิสระในการสูบ ไม่ว่าจะบนเวที ตอนซ้อมอะไรแบบนี้ มันยิ่งทำให้ผมหยุดยาก คือวันที่เสียงหายเสียงพังมันควรจะหยุด ผมกลับยังไม่ยอมหยุด”

               “อย่างไปสนามบินก็จะมีห้องสูบบุหรี่ใช่ไหมครับ พอเริ่มมีการรณรงค์มากขึ้นเรื่อยๆ ห้องก็จะเริ่มลดจำนวนลง จนสุดท้ายที่ดอนเมืองตอนนี้ไม่มีเลย อย่างในตึกจีเอ็มเอ็มเมื่อ 10 ปีที่แล้วเนี่ย สูบในห้องน้ำได้เลย คุณจะเข้าไปถ่ายหนัก ถ่ายเบา สูบบุหรี่นี่ได้เลย หลังๆ พอเริ่มมีกฎห้ามสูบบุหรี่ในห้องน้ำออกมา สูบบุหรี่ในออฟฟิศก็ไม่ได้ คือในตึกแทบจะหาที่สูบไม่ได้ ซึ่งในเวลานั้นผมคิดแค่ว่าจะห้ามทำไม ผมก็รู้ว่าการสูบมันไม่ดีแต่ก็ควรจัดพื้นที่ให้สูบได้ด้วยไหม คือส่วนตัวผมมองว่าคนสูบบุหรี่ก็เป็นคนดี แต่ว่าในการที่แยกสัดส่วนเราออกจากการที่ไม่ให้เราสูบบุหรี่เนี่ยผมว่า เฮ้ย…เราไม่ใช่ฆาตกรนะ เราแค่ติดบุหรี่”

             “ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่พอเข้าโรงเรียนจะไม่สูบ เพราะผมมองว่า ผมเป็นตัวอย่างให้เยาวชน ผมก็จะคิดว่าลองไม่สูบสักวันหนึ่ง ดูมันไม่มีมุมให้สูบด้วยละ เราจะไปสูบในห้องน้ำรึก็มีกลิ่น แม้ว่าห้องน้ำที่เราไปก็จะเป็นห้องน้ำที่เขาจัดไว้ให้ศิลปินอย่างเดียว แต่เขาจะรู้ทันทีว่า ไม่แก ก็ต้องแกแน่ ก็เลยงดเลยดีกว่า แล้วนี่ก็เพิ่งคิดได้เหมือนกันว่า เออ…เราก็ทำได้นะ”

               ระยะเวลากว่า 10 ปีกับการเป็นสิงห์อมควัน วันแล้ววันเล่า สุขภาพของเขาก็ย่ำแย่ จนกระทั่งในที่สุดนักร้องหนุ่มจึงตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร ซึ่งทำให้สุขภาพของเขากลับดีและมีความสุขอีกครั้ง

               “ความจริงผมก็อยากเลิกบุหรี่ตั้งแต่แรกๆ เหมือนกันครับ ผมรู้ตัวว่าตัวเองใช้เสียงและมันทำลายมากกว่าที่เราคิด แต่ว่าความคิดที่อยากจะเลิกมันยังไม่กล้าแกร่งพอ จนสูบมาได้ 10 กว่าปี พยายามเลิกมา 2–3 ครั้ง ก็หยุดแค่สัปดาห์หนึ่ง เดือนหนึ่ง มันก็จะกลับมาสูบอีก นานสุดไม่น่าจะเกิน 2 เดือน แต่ว่าเป็น 2 เดือนที่กล้ำกลืนและไม่มีความภูมิใจในตัวเองนะครับ คือการหยุดที่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ แล้วตอนนั้นที่พยายามเลิกเพื่อนๆ ก็ไม่ค่อยเชื่อ เพื่อนๆ มีส่วนสำคัญในการเลิกมากนะครับ ถ้าเขามานั่งหน้าเราพ่นบุหรี่ใส่เรา มันก็ทำให้เราอยากยิ่งกว่าเดิม

              “แต่ว่าพอมาถึงจุดที่คิดจะเลิก คือตอนที่ผมจะแต่งงานผมก็เคยพูดไว้กับแฟนเมื่อ 10 กว่าปีก่อนว่า ถ้าวันหนึ่งเราแต่งงานกัน ผมจะเลิกบุหรี่ ซึ่งคำพูดที่ผมพูดนั้นทั้งบ้านไม่มีใครเชื่อผมหรอกครับ แม่ไม่เชื่อ แฟนก็ไม่เชื่อ แต่พอก่อนแต่งงาน 1 ปีผมก็เลิกบุหรี่ได้ เป็นการเลิกแบบหักดิบ ผลที่ตามมาผมว่าหักดิบดีกว่าจริงๆ ครับ

               “การที่เรานึกถึงใครสักคนว่า สมมติเราทำแล้วเขาจะภูมิใจในตัวเรา แล้วเขาจะยิ้มให้เรา เป็นรอยยิ้มจริงๆ อย่างที่เราอยากจะได้ ผมว่ามันไม่ทรมานเลย ผมว่าพอวันที่หยุดมันก็หยุดได้จริงๆ เลยนะ ไม่ต้องเคี้ยวหมากฝรั่ง ไม่ต้องพยายามอะไรทั้งนั้น หยุดคือหยุดเลย แล้วการเลิกของผมครั้งนั้นก็ทำให้เพื่อนฝูงของผมที่ติดบุหรี่อยู่ก็เริ่มเข้ามาถาม มาคุยว่าทำไมถึงเลิกได้ หรือต่อให้เพื่อนมาพ่นควันยั่วเรามันก็ไม่มีผลแล้วครับ

              “สุขภาพดีขึ้นครับ ตื่นนอนขึ้นมาแล้วไม่เจ็บคอ ช่วงสูบนี่ทุกวันตื่นขึ้นมาจะเจ็บคอมาก แล้วก็จะมีเสมหะ ร้องเพลงดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น” นักร้องหนุ่มยืนยันด้วยรอยยิ้ม

             “ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าเป็นเช้าที่สดใสจริงๆ แม้ว่าจะพักผ่อนไม่พอ”

               สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอเชิญชวนทุกท่านที่ประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ใน โครงการ ‘100 ชีวิตตัวอย่าง เลิกสูบ เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ’ โดยเขียนเรื่องราวของตัวเอง…

  1. จุดเริ่มต้นของการสูบบุหรี่
  2. ระยะเวลาที่สูบ
  3. ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้างจากการสูบบุหรี่
  4. แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เลิกบุหรี่
  5. ใช้วิธีใดบ้างสำหรับการเลิกบุหรี่

                 เขียนเป็นเรื่องเล่า ไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 ส่งมาที่ https://www.facebook.com/smokefreethailand  ภายใน 31 สิงหาคม 2560 เรื่องราวของคุณอาจจะเป็น 1 ตัวอย่าง ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่ต้องการเลิกบุหรี่

 

Facebook Comments Box